พระราชประวัติ
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กรมหลวงสงขลานครินทร์

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กรมหลวงสงขลานครินทร์ พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย
เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 69 ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และสมเด็จ
พระศรีสวรินทิรา พระบรมราชเทวี สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงพระราชสมภพในพระมหาราชวัง เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2434
สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระศรีนครินทร์ทราบรมราชชนนี มีพระธิดาและพระโอรส 3 พระองค์
คือสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนครธิวาสราชนครินทร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

ด้านการศึกษา ในปี พ.ศ. 2448 ได้ทรงเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยทหารบก ในปีเดียวกันได้ทรงเข้าศึกษา ณ โรงเรียนมัธยมศึกษา
ประเทศอังกฤษ หลังจากนั้นได้ทรงศคกษาวิชาทหารและวิชาทหารเรือชั้นสูง ณ ประเทศเยอรมัน ขณะทรงศึกษาในปีสุดท้าย
ทรงชนะการประกวดออกแบบเรือดำน้ำ หลังจากการศึกษาหลักสูตร 4 ปี ได้ทรงเข้าปฏิบัติงานเป็นนายทหารราชนาวีเยอรมัน
เป็นเวลา 3 ปี ในปี 2458 ได้ทรงเสด็จนิวัติประเทศไทยและเข้ารับราชการในกองทัพเรือเป็นเวลา 9 เดือน ก็ทรงลาออกเนื่องจาก
ทรงพบอุปสรรคในการพัฒนากองทัพเรือไทยให้เหมาะสมในช่วงที่ทรงลาออกนั้นได้รับทราบถึงความขาดแคลนต่างๆ
ในด้านการแพทย์และการให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วย จึงตัดสินพระทัยศึกษาวิชาแพทย์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด สหรัฐอเมริกา
และทรงได้รับประกาศนียบัตรสามธารณสุขในปี 2464 หลังจากนั้นก็เสด็จกลับมาทรงทำงานอยู่กับราชแพทยาลัยระยะหนึ่ง
แล้วจึงเสด็จสหรัฐอเมริกาเพื่อศึกษาวิชาแพทย์ จนได้รับปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตเกียรตินิยม เมื่อปี 2471 ในปีเดียวกัน
ก็ได้เสด็จนิวัติประเทศไทยและมีพระราชประสงค์จะทำหน้าที่แพทย์ ณ โรงพยาบาลศิริราช แต่ทางการไม่อาจสนองพระราช-
ประสงค์ได้ เพราะเกี่ยวด้วยฐานันดรศักดิ์ของพระองค์เองและราชประเพณี จึงทรงไม่พอพระทัยที่จะอยู่เฉยๆ โดยไม่ได้ทำ
ประโยชน์จึงมีพระดำรัสว่า โดยความจงรักภักดีของฉันต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฉันไม่สามารถจะรับหน้าที่ใดๆ ของรัฐบาล
เพียงแต่เครื่องประดับและรับเงินเดือนสำหรับการทำเช่นนั้น ถ้าเรื่องเป็นเช่นนั้นฉันรู้สึกว่าฉันควรจะออกจากหน้าที่นั้นดีกว่า และให้
ข้าราชการที่ควรจะทำหน้าที่และเป็นที่ต้องการได้รับเงินเดือนของรัฐบาลมากกว่าฉันเข้าทำแทน

ดังนั้นจึงทรงเปลี่ยนความตั้งพระทัยเสด็จไปปฏิบัตหน้าที่แพทย์ประจำบ้านที่โรงพยาบาลแมคคอมิค จังหวัดเชียงใหม่ ตามที่
ทางโรงพยาบาลกราบทูลอัญเชิญมา สมเด็จพระบรมราชชนก ได้เสด็จถึงเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2472 และได้เสด็จประทับ
ร่วมอยู่กับครอบครัว ดร. อี.ซี.คอร์ท ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแมคคอมิคในครั้งนั้น ที่ประทับเป็นตึกเล็กๆ และทรงมีมหาดเล็กรับใช้
เพียงคนเดียว ทรงใช้เวลาส่วนใหญ่กับผู้ป่วยในโรงพยาบาล และปฏิบัติพระองค์เยี่ยงแพทย์ธรรมดาสามัญผู้หนึ่ง ไม่โปรดให้แพทย์
พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่อื่นของโรงพยาบาล ผู้ปฏิบัติงานร่วมกับพระองค์ประกฤติต่อพระองค์เยี่ยงเจ้านายผู้สูงศักดิ์ทรงปฏิบัติพระองค์
เยี่ยงแพทย์ธรรมดาสามัญชน เวลาจ่ายใบสั่งยาก็ทรงลงพระปรมาภิไธยคล้ายสามัญชนว่ามหิดล สงขลา แม้ว่าพระสุขภาพจะไม่ดีนัก
แต่ก็ทรงมีความสุขเป็นอันมากกับการมีโอกาสเป็นหมอได้อย่างเต็มที่ ในชั่วระยะเวลาไม่นานก็มีกิตติศัพท์แพร่หลายทั่วไปว่า มีแพทย์เป็นเจ้าฟ้ามาทรงปฏิบัติงานอยู่ที่โรงพยาบาลแมคคอมิค ผู้ป่ายไข้ที่มารับการตรวจบำบัดโรคที่โรงพยาบาลครั้งนั้นขนานนาม
พระองค์ท่านว่า "หมอเจ้าฟ้า" สมเด็จพระบรมราชชนก มีโอกาสประทับที่เชียงใหม่ ให้ผู้คนชาวเชียงใหม่ได้ชื่นชมในพระกรุณา
เพียงชั่วไม่ถึงเดือนก็ต้องเสด็จกลับกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2472 เพราะทรงประชวร ทรงประชวรอยู่ประมาณ 4 เดือน
จนถึงวันที่ 24 กันยายน 2472 เวลา 16.45 น. ก็เสด็จ ทิวงคต รวมพระชนม์มายุได้ 37 ปี 8 เดือน กับ 23 วัน เนื่องจากพระปับผาสะ
มีน้ำคั่งและพระหทัยวาย นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของวงการแพทย์ไทย ดังนั้นวันที่ 24 กันยายน จึงเรียกกันว่า “วันมหิดล”

แม้ว่าสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ได้เสด็จทิวงคตไปแล้วถึง 70 ปี แต่พระราชดำรัสของพระองค์ท่าน
ที่ว่า “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภ ทรัพย์และเกียรติ จะตกแก่ท่านเอง ถ้าท่าน
ทรงธรรมแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์” ก็ยังคงก้องกังวานอยู่ในหัวใจของปวงชนมิรู้คลาย

บรรณานุกรม
“พระราชประวัติ”. 2542. ข่าวศรีตรัง. ปีที่ 22 ฉบับที่ 10 (ต.ค)